Patient Education

โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ

Home » โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
(de Quervain’s Stenosing Tenosynovitis)

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบคืออะไร ?

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบหรือโรคเดอ-กาแวง (de Quervain’s Stenosing Tenosynovitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อมือบริเวณฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาในขณะทำงานที่ต้องกางมือหรือขยับข้อมือ ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยอายุประมาณ 30-50 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 8-10 เท่า

อาการเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบจะมีอาการปวดข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยมักจะมีอาการในช่วงกลางคืน อาการปวดจะเป็นมากขึ้นถ้ามีการใช้หรือขยับข้อมือและนิ้วหัวแม่มือ อาจมีอาการบวมที่ข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ทำให้ผู้ป่วยจะขยับนิ้วโป้งหรือข้อมือได้ลำบาก อาจรู้สึกติดหรือสะดุดโดยเฉพาะเวลากำมือหรือหยิบจับสิ่งของ

โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สาเหตุที่แท้ของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจยัหลายอย่างที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ได้แก่ การใช้งานข้อมือที่มากเกินไป ,อุบัติเหตุ ,หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบตุร หรือเกิดจากภาวะการอักเสบด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ?

โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยจากอาการ ตำแหน่งที่ปวด และจากการตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจใช้การตรวจฟินเคิลสไตน์ (Finkelstein’s test) โดยจะทาการบิดข้อมือของผู้ป่วยไปทางด้านนิ้วก้อย ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบจะมีอาการปวดข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือมากขึ้น การตรวจวินิจฉัยทางรังสีอื่นๆไม่มีความจำเป็น หากแพทย์ไม่ได้สงสัยภาวะอื่นๆ

การตรวจ Finkelstein’s test

การรักษา

การรักษาโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบมีทั้งการรักษาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน โดยมีวิธีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือในท่าซ้ำๆ
  • ใส่อุปกรณ์ดามข้อมือและนิ้วโป้งเพื่อลดการเคลื่อนไหว
  • รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ในรายที่อาการเป็นรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อวิธีข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในปลอกหุ้มเส้นเอ็นเพื่อลดการอักเสบ


การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณข้อมือนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะการฝ่อของไขมันใต้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาหรือสีของผิวหนังปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง นอกจากนี้การฉีดยาอาจจะให้ผลการรักษาไม่ดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบเรื้อรังมานาน หรือเป็นโรคเบาหวาน

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดมีจุดประสงค์ที่จะเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก เพื่อลดการเบียดรัดเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็น แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยรับการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือในผู้ป่วยที่มีกายวิภาคภายในปลอกหุ้มเอ็นผิดปกติ เช่น มีกระดูกข้อมือผิดรูป เป็นต้น

โดยทั่วไปการผ่าตัดสามารถทำได้โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน โดยหลังผ่าตัดต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ และควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตัดไหมประมาณ 10-14 วันหลังผ่าตัด

ในข้อมือบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณหลังมือวิ่งผ่าน(Superficial RadialNerve) ในการผ่าตัดแพทย์จะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บกับเส้นประสาทดังกล่าว อย่างไรก็ตามอาจเกิดภาวะเส้นประสาทชาจากการดึงรั้งระหว่างผ่าตัดได้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการชาบริเวณหลังมือ โดยเฉพาะง่ามนิ้วมือระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ หรือบางรายอาจจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณดังกล่าวได้ ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงเอง

                                                จัดทำโดย สถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์