Patient Education

โรคกระดูกคอสะโพกหัก

Home » โรคกระดูกคอสะโพกหัก

โรคกระดูกคอสะโพกหัก
(Femoral neck fracture)

กระดูกคอสะโพกหักคืออะไร?

กระดูกคอสะโพกหักเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยมักสัมพันธ์กับภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนมีอุบัติเหตุลื่นล้มเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้กระดูกคอสะโพกหักได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งกระดูกคอสะโพกหักนั้นสามารถพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยด้วยเช่นกัน แต่จะสัมพันธ์กับอุบัติเหตุที่รุนแรงมากกว่า เช่น อุบัติเหตุทางจราจร หรือการตกจากที่สูง ซึ่งจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างไปจากกระดูกคอสะโพกหักในผู้สูงอายุ

ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหัก?

ต้องบอกว่าผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหักได้ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น มวลกระดูกของร่างกายจะลดลง เมื่อมีอุบัติเหตุล้มแม้จะเป็นการล้มเพียงเล็กน้อย ก็มีโอกาสทำให้กระดูกคอสะโพกหักได้ โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน นั้นมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

กระดูกคอสะโพกหักวินิจฉัยได้อย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีประวัติล้ม แล้วมีอาการปวดสะโพก หรือขาหนีบ และไม่สามารถยืนหรือเดินลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้นได้ ควรได้รับการเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกคอสะโพก หรือกระดูกบริเวณสะโพกหัก หากเอกซเรย์ปกติยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ หรือภาพเอกซเรย์ไม่ชัด ผู้ป่วยควรได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการวินิจฉัยต่อไป

กระดูกคอสะโพกหักรักษาอย่างไร?

เป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยคอสะโพกหักคือ การให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเหมือนก่อนมีกระดูกหัก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการต้องนอนติดเตียง

การรักษากระดูกคอสะโพกหัก จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยกระดูกคอสะโพกหักที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ในกลุ่มนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กยึดดามกระดูก เพื่อพยายามเก็บหัวสะโพกของคนไข้ไว้ให้ได้นานที่สุด ทั้งนี้ การผ่าตัดยึดกระดูกอาจล้มเหลวได้ ส่งผลให้หัวสะโพกตายแล้วต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหัวกระดูกสะโพกอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้หัวสะโพกตายได้แก่กระดูกหักที่มีการเคลื่อนอยู่ก่อนแล้ว
  2. ผู้ป่วยอายุมากกว่า หรือเท่ากับ 60 ปี การรักษาจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ผ่าตัดใส่เหล็กยึดดามกระดูกในกรณีที่กระดูกคอสะโพกหักและไม่เคลื่อน กับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหัวสะโพกใหม่เลยซึ่งจะใช้ในกรณีกระดูกคอสะโพกหักและมีการเคลื่อน

ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเยอะที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง หรือมีภาวะนอนติดเตียงมาก่อนอาจใช้วิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ ทั้งนี้ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย

ข้อควรปฏิบัติหลังจากการรักษากระดูกคอสะโพกหักแล้ว?

หลังจากทำการรักษากระดูกคอสะโพกหักแล้ว ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับการรักษาภาวะกระดูกพรุนต่อด้วย เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักซ้ำอีกข้าง กระดูกหักบริเวณอื่น โดยผู้ป่วยควรได้รับประทานแคลเซี่ยมและวิตามินดีต่อเนื่อง ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ป้องกันการลื่นล้มซ้ำซึ่งจะทำให้เกิดกระดูกหักใหม่ได้

จัดทำโดย สถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์