Patient Education

โรคกระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ

Home » โรคกระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ

Idiopathic Scoliosis

โรคกระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและถูกเพิกเฉย มิได้ป้องกัน หรือรักษาซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยกว่าจะมาพบแพทย์ ก็มีอาการคดมากเดินตัวเอียง หรือบางรายมีอาการปวดหลัง ภาวะกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ 80 % พบว่าไม่มีสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน จึงเรียกว่า กระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) ซึ่งในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ในการพัฒนาการรักษาแก้ไขกระดูกสันหลังคดให้กลับมาอยู่ในสภาวะใกล้เคียงปกติมาก ทั้งนี้การรักษาจะได้ผลดีมากหากได้รับการรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม


สาเหตุกระดูกสันหลังคด

ส่วนใหญ่ 80 % ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ที่เรียกว่ากระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) ในกลุ่มผู้ป่วยที่พบว่ามีการคดของกระดูกสันหลังช่วงอายุ 10-15 ปี เชื่อว่ามีการถ่ายทอดจากกรรมพันธุ์ ถึง 10 % กระดูกสันหลังคดส่วนที่พบมีสาเหตุชัดเจน ที่พบบ่อยๆได้แก่ ภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) ซึ่งพบว่าเกิดจากรูปร่างกระดูกสันหลังมีความผิดปกติ, ภาวะกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของเอ็นกล้ามเนื้อระบบประสาท (Neuromuscular Scoliosis)

 
รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสันหลังคด

เนื่องจากส่วนใหญ่ ภาวะกระดูกสันหลังคดไม่ได้ทาให้เกิดอาการ ส่วนน้อยเท่านั้นที่คดมากทำให้ปวดหลัง หรือรู้สึกเหนื่อยง่ายจากการที่กระดูกคดมากบริเวณกระดูกทรวงอก เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ เพราะเวลาดูกระจก รู้สึกหัวไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หรือมีก้อนนูนบริเวณหลัง วิธีสังเกตว่ากระดูกสันหลังคดหรือไม่ มีดังนี้

ให้ผู้ป่วยยืนหันหลัง และมองหาลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะกระดูกสันหลังคด

  1. ความสูงของระดับหัวไหล่ไม่เท่ากัน
  2. ความนูนของกระดูกสะบักไม่เท่ากัน
  3. ระดับแนวกระดูกสะโพกไม่เท่ากัน
  4. ให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มไปด้านหน้า ใช้มือ 2 ข้าง พยายามแตะพื้น (Adam’ s forward bending test) จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน (Rib Hump)

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ(Idiopathic Scoliosis)

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

ก่อนอื่นผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจภาวะของโครงกระดูกสันหลังคด และการดำเนินโรค และคอยช่วยแพทย์สังเกตความเปลี่ยนแปลงความคดของกระดูกสันหลัง และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

  • ใช้ในกรณีผู้ป่วยมีมุมองศาที่คดไม่มาก ไม่มีภาวะ การเสียสมดุลย (ลำตัวไม่เอียงมาก) ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท
  • การรักษาจะใช้เสื้อเกราะ (Brace) ใส่ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น ให้ใส่ตลอดประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้น อาบน้ำชำระร่างกายให้ถอดได้ การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนเด็กหยุดเจริญเติบโต และค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลง จนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นแล้ว ก็หยุดใส่ได้ สำหรับผู้ป่วยใกล้จะหยุดโต หรือไม่โตขึ้นแล้ว เสื้อเกราะก็จะไม่มีประโยชน์

 

ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังคด

  1. พบว่ามีการคดของกระดูกสันหลังมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะรับการรักษาโดยการใส่เสื้อเกราะ (Brace)
  2. หากพบว่ามุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40– 45 องศา ในวัยกำลังเจริญเติบโต (Immature)
  3. หากพบว่ามุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 50– 55 องศา ในวัยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว (Maturity)


วัตถุประสงค์ของการผ่าตัดรักษา

  1. เพื่อหยุดการคดของกระดุกสันหลังที่จะมากขึ้นในอนาคต และแก้ไขกลับมาตรง หรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด
  2. เพื่อให้กระดูกสันหลัง อยู่ในภาวะสมดุลย์ (Trunk balance) ทั้งแนวด้านหน้า-หลัง หรือด้านข้าง โดยผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้น้อยที่สุด เพื่อผู้ป่วยสามารถก้มเงย เอี้ยวตัว ใช้ชีวิตประจำวันได้


การผ่าตัดรักษา

การเลือกวิธีผ่าตัดของแพทย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย หลายอย่าง เช่น ความยืดหยุ่น หรือความเว้าของกระดูกสันหลังคด ซึ่งต้องพูดคุยเข้าใจเป้าหมาย

การผ่าตัด ตลอดจนญาติ และผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแก้ไขความคดของกระดูกมากน้อยแค่ไหน เพื่อจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกันทั้ง 2 ฝ่าย และ สิ่งที่สำคัญคือ ความชำนาญ ประสบการณ์ และความคุ้นเคยในการผ่าตัดของแพทย์ผู้จะทำการผ่าตัดเพื่อให้กระดูกกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด

สรุป ภาวะกระดูกสันหลังคด สามารถรักษาให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้หากได้รับการรักษาโดยถูกวิธีและในเวลาที่เหมาะสม