Patient Education

ภาวะกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิด

Home » ภาวะกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิด

โรคกระดูกหักแบบมีแผลเปิด
(Open fracture)

กระดูกหักแบบมีแผลเปิด คืออะไร?

กระดูกหักแบบมีแผลเปิด คือ ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุแล้วมีกระดูกในร่างกายหักร่วมกับการมีแผลเปิดในบริเวณเดียวกันหรือระยางค์เดียวกันกับกระดูกหักนั้นๆ โดยกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิดนั้นมีโอกาสติดเชื้อมากกว่ากระดูกหักแวไปแบบไม่มีแผลเปิดหากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมและทันท่วงที โดยทั้งนี้การรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูกหัก ขนาดและความสกปรกของแผล

กระดูกหักแบบมีแผลเปิด รักษาอย่างไร?

กระดูกหักแบบมีแผลเปิดนั้นเป็นภาวะที่ต้องการรักษาฉุกเฉิน เนื่องจากการล่าช้าในการรักษาจะส่งผลให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในกระดูกและแผลผ่าตัดได้ การรักษาคนไข้ในกลุ่มนี้จึงควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้เคียงเพื่อลดความล่าช้าในการให้ยาฆ่าเชื้อและล้างแผลเปิด โดยการรักษาผู้ป่วยกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิดนั้น เริ่มจากการให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำโดยเร็วทันทีเมื่อถึงโรงพยาบาล ให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักตามประวัติการรับวัคซีน ล้างแผลเพื่อชำระสิ่งสกปรกภายนอกออกที่ห้องฉุกเฉิน ใส่เฝือกอ่อนหรือวัสดุดามกระดูกจากภายนอก และเข้าห้องผ่าตัดเพื่อล้างแผลให้สะอาดภายใน 24 ชม หลังได้รับการบาดเจ็บ หลังจากนั้นจะทำการยึดกระดูกด้วยเหล็กดามกระดูกภายในหรือภายนอกขึ้นกับลักษณะของกระดูกหักของผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีภาวะกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิด?

เมื่อผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุและมีภาวะกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิด สิ่งแรกที่ควรทำคือเรียกรถพยาบาล โทร 1669 พยายามขยับตัวผู้ป่วยให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมต่อเนื้อเยื่อรอบๆกระดูกหัก โดยระหว่างนี้ให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ารับการผ่าตัดล้างแผลในห้องผ่าตัด เตรียมประวัติการบาดเจ็บที่สำคัญ เช่น อุบัติเหตุอย่างไร บริเวณสิ่งแวดล้อมหรือพื้นถนนที่ได้รับอุบัติเหตุโรคประจำตัว ประวัติการรับประทานอาหารและน้ำล่าสุด เพื่อให้ทีมแพทย์ห้องฉุกเฉินสามารถให้การรักษาที่เหมาะสมได้

ผู้ป่วยกระดูกหักแบบมีแผลเปิดมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติหรือไม่?

หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยกระดูกหักแบบมีแผลเปิดมีโอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระดับความบาดเจ็บของกระดูกและเนื้อเยื่อโดยรอบ โรคประจำตัวของผู้ป่วย สภาพแวดล้อมของสถานที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยกระดูกหักแบบมีแผลเปิดมีโอกาสติดเชื้อในกระดูกได้มากกว่าผู้ป่วยกระดูกหักทั่วไป รวมไปถึงมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกบางส่วนหายไป หรือเนื้อเยื่อโดยรอบกระดูกหักมีการตายมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น นำไปสู่การผ่าตัดหลายรอบจนกว่าแผลจะหาย และกระดูกติด และสุดท้ายผู้ป่วยอาจมีภาวะกระดูกติดเชื้อเรื้อรังตามมาได้

จัดทำโดย สถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์