Patient Education

โรคนิ้วล็อค

Home » โรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อค
(Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อค คืออะไร ?

โรคนิ้วล็อคหรือ Trigger Finger เป็นภาวการณ์อักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็นซึ่งเป็น ภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญที่คนเราใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการทำงานยกหรือหยิบจับสิ่งของ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว รู้สึกสะดุดหรือล็อคขณะงอเหยียดนิ้ว ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคนิ้วล็อคทั้งสิ้น

ทําไมถึงเป็นโรคนิ้วล็อค ?

โรคนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการใช้งานหนัก โดยเฉพาะการเหยียดและงอข้อนิ้วซ้ำๆ หรือการกำสิ่งของแน่นๆเป็นเวลานาน โดยที่โรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยที่พบมากที่สุดในผู้หญิงวัยกลางคนและมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น ในคนไข้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคไต

โรคนิ้วล็อคมีอาการอย่างไร ?

อาการและอาการแสดงของโรคนิ้วล็อคมีหลายระดับเรียงตามความรุนแรงได้ดังนี้

  1. มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และอาจรู้สึกนิ้วติดแข็งในตอนเช้า
  2. รู้สึกสะดุดหรือมีเสียงเวลาขยับข้อนิ้ว และอาจคลำได้ก้อนบริเวณโคนนิ้ว
  3. นิ้วล็อคติดในท่างอแต่ยังสามารถจับเหยียดนิ้วออกมาได้
  4. นิ้วที่ติดอยู่ในท่างอโดยที่ไม่สามารถจับเหยียดออกมาได้


การวินิจฉัยโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อคสามารถวินิจฉัยได้โดยใช้การซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อหรือแพทย์ทั่วไปที่ชำนาญ โดยไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์หรือส่งการตรวจพิเศษเพิ่มเติมถ้าหากแพทย์ไม่ได้สงสัยภาวะอื่นๆ

การรักษาโรคนิ้วล็อค

การรักษาภาวะนิ้วล็อคมีทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัดและการรักษาโดยไม่ผ่าตัด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

ในรายที่เพิ่งเริ่มมีอาการหรืออาการยังเป็นไม่รุนแรง แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้การรักษาโดยวิธี ไม่ผ่าตัดก่อนโดยมีข้อแนะนำดังนี้

  • การพักใช้งานมือข้างที่มีอาการและหลีกเลี่ยงการเหยียดซ้ำๆอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • การแช่น้ำอุ่นโดยเฉพาะในตอนเช้าอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน และควรนวดบริเวณโคนนิ้ว
  • การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger Splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดตรงโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดโดยเฉพาะในตอนเช้าได้
  • หากผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วได้สุด ควรจะบริหารเหยียดนิ้วดังกล่าวบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะข้อติดในท่างอ
  • การรับประทานยาแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น การทานยานี้มีผลข้างเคียง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อการรักษาโรคนิ้วล็อค

ในรายที่อาการเป็นมานานหรือรักษาโดยวิธีการข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาโดยฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid Injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้วเพื่อลด การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นซึ่งการฉีดยานี้ ควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น โดยทั่วไปการฉีดยาจะให้ผลการรักษาดี แต่อย่างไรก็ตามหาก ผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องใช้งานมือข้างที่มีอาการอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกำเริบซ้ำขึ้นอีกได้ โดยมักจะมีอาการกลับมาหลังฉีดยา ประมาณ 3-6 เดือน

หากมีอาการกำเริบ แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดยาซ้ำได้อีก แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะฉีดยาเกิน2ครั้งในนิ้วเดียวกัน

การรักษาโดยการผ่าตัด

ในรายที่อาการเป็นรุนแรง หรือกลับมามีอาการกำเริบหลายครั้งหลังวิธีการรักษาข้างต้น  แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีการอักเสบออกโดยการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคมีอยู่สองวิธี

1.การผ่าตัดโดยมีแผลเปิด (Open Release)

โดยทั่วไปสามารถทำได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ และเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก  หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยกลับมาตัด ไหมประมาณ 10-14 วันหลังผ่าตัด

2.การผ่าตัดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นโดยไม่มีแผลเปิด (Percutaneous Release)

วิธีนี้จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ต่อเส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาทของนิ้ว

การผ่าตัดโดยใช้เข็มหรือของมีคมอื่นๆเขี่ยปลอกหุ้มเส้นเอ็น มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บกับส่วนอื่นๆได้

วิธีที่สองนี้มีข้อดีคือแผลขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตรทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์มากขึ้นและมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของส่วนอื่นๆได้มากกว่า

ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าตัดโรคนิ้วล็อค

โดยทั่วไปหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้เลยโดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากแผลเปียกน้ำควรทาแผลทันที
  • ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตัดไหม ประมาณ10-14วันหลังผ่าตัด
  • เมื่อแผลแห้งดีแล้ว ควรจะต้องทำการนวดแผลผ่าตัด เพื่อให้แผลเป็นนุ่มและลดความเสี่ยงที่จะกลับมามีอาการซ้ำได้
  • ควรปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากแผลมีภาวะผิดปกติเช่น แผลซึม หรือ มีเลือดออก ควรกลับมาพบแพทย์ทันที

จัดทำโดยสถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์