บทนำ
มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา เป็นมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อยใน 2 ช่วงอายุคือ ช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี และช่วงอายุ มากกว่า 65 ปี อย่างไรก็ตามสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ อุบัติการณ์โดยเฉลี่ยทุกช่วงอายุประมาณ 3.4 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคนโดยเฉลี่ย อัตราส่วนชายต่อหญิงประมาณ 1.4:1 คน ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติการณ์น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็ง carcinoma ชนิดอื่นๆ
ประเภทของมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา
อาการและอาการแสดง
ออสทีโอซาร์โคมาเป็นโรคมะเร็งกระดูก สามารถเกิดได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย เช่น กระดูกข้อเข่า (Distal femur and Proximal tibia) กระดูกข้อไหล่ (Proximal humerus) และอาจเกิดบริเวณอื่นตามแกนกลางลำตัวของร่างกาย เช่น กระดูกอุ้งเชิงกราน เป็นต้น โดยอาการแสดงจะแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งของโรค ผู้ป่วยจะให้ประวัติว่ามีอาการปวดหรือ คลำก้อนได้ประมาณ 2-4 เดือนก่อนมาพบแพทย์ เป็นต้น
แนวทางการรักษา
1.การส่งตรวจเพื่อวินิจฉัย
1.1 ส่งตรวจภาพทางรังสี (Film x-ray)
1.2 ส่งตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
1.3 ส่งตรวจการแพร่กระจาย (Systemic staging)
2.การรักษา
หลังจากได้รับการตรวจดังกล่าวข้างต้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ทั้งหมด 3 ครั้งก่อนจะได้รับการผ่าตัด (Neoadjuvant chemotherapy) และได้รับการส่งตรวจ ประเมินการแพร่กระจายอีกครั้งก่อนการตัดสินใจผ่าตัด (MRI and re-staging) โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับการผ่าตัด จะประเมินสภาพความพร้อมของผู้ป่วย สภาวะแทรกซ้อน และการตรวจ MRI หลังจากให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นการผ่าเพื่อรักษารยางค์ (Limb sparing surgery) หลังจากการตัดกระดูกที่เป็นมะเร็งออสทีโอซาร์โคมาออกจากผู้ป่วยแล้ว ศัลยแพทย์เฉพาะทางต้องหาสิ่งที่จะใส่เข้าไปทดแทน (Reconstruction) โดยสิ่งที่ใส่เข้าไปมีหลายประเภท ได้แก่ กระดูกของตัวผู้ป่วยที่ถูกตัดออกมาแล้วนำไปผ่านกระบวนการทำลายมะเร็งแล้ว (Pasteurized autograft) หรือกระดูกจากผู้บริจาค (Allograft) หรือวัสดุสังเคราะห์ที่ทำจากเหล็ก (Endoprosthesis) เป็นต้น หรือการตัดรยางค์ (Amputation) หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยก็จะได้รับยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดอีก 3 ครั้ง (Adjuvant chemotherapy)
การติดตามการรักษา
การติดตามอาการหลังการผ่าตัด | การตรวจร่างกายและการส่งตรวจเพิ่มเติม |
3 ปีแรกหลังการผ่าตัด | 1. ภาพถ่ายรังสี (Film x-ray) ทุก 3 เดือน 2. สแกนปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest with contrast) ทุก 3 เดือน 3. สแกนกระดูก (Bone scan) ทุก 1 ปี |
3-5 ปีหลังการผ่าตัด | 1. ภาพถ่ายรังสี (Film x-ray) ทุก 6 เดือน 2. สแกนปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest with contrast) ทุก 6 เดือน 3. สแกนกระดูก (Bone scan) ทุก 1 ปี |
มากกว่า 5 ปีหลังการผ่าตัด | 1. ภาพถ่ายรังสี (Film x-ray) ทุก 1 ปี 2. สแกนปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest with contrast) ทุก 1 ปี 3. สแกนกระดูก (Bone scan) ทุก 1 ปี |
การตรวจร่างกายผู้ป่วยหลังการผ่าตัด แพทย์จะทำการหาการกลับมาเป็นใหม่ โดยคลำก้อนที่บริเวณผ่าตัด บริเวณส่วนอื่นๆของร่างกาย ตรวจสอบสภาพของกระดูกหรือข้อเทียมที่ทำการใส่เข้าไปทดแทนหลังจากการผ่าตัด โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคง การทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น
การรักษาเมื่อมีการกลับมาเป็นซ้ำ (Local recurrence)
เมื่อมีการตรวจพบ หรือผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยว่ามีการเกิดซ้ำ ได้แก่ คลำได้ก้อนบริเวณที่ผ่าตัด หรือจากวิธีใดๆก็ตาม ศัลยแพทย์จะรีบทำการยืนยันให้แน่ชัดว่า มีการกลับมาเป็นซ้ำ ด้วยวิธีการตรวจที่ละเอียดขึ้น โดยทั่วไปช่วงเวลาการกลับมาเป็นซ้ำมักจะเกิดในช่วง 2-3 ปีแรกหลังการผ่าตัด เมื่อทำการยืนยันได้แน่ชัด ศัลยแพทย์จะทำการส่งตรวจใหม่ทั้งหมด ได้แก่ การถ่ายภาพทางรังสี (Film x-ray) การทำ MRI บริเวณที่สงสัยว่าจะกลับมาเป็นซ้ำ และการส่งตรวจการแพร่กระจาย (Systemic staging) คือ สแกนปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest with contrast) และ สแกนกระดูก (Bone scan) หลังจากนั้นจะวางแผนการรักษาใหม่
หลังจากการส่งตรวจเพิ่มเติม ในกรณีที่มีการกลับมาเป็นซ้ำ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจาย หรือมีการแพร่กระจายแต่สามารถรักษาได้ (ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินจากนั้นจะปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัว) ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัด (Adjuvant chemotherapy) และวางแผนการผ่าตัดหลังจากการให้ยาเคมีบำบัดแล้ว ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นการผ่าเพื่อรักษารยางค์ (limb sparing surgery) หรือการตัดรยางค์ (amputation) ก็ขึ้นกับขอบเขตการลุกลาม นอกจากนี้ในกรณีที่มะเร็งออสทีโอซาร์โคมาแพร่กระจายไปที่ปอด ศัลยแพทย์กระดูกจะปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอกให้เข้าร่วมการรักษา
ในกรณีที่มีการกลับมาเป็นซ้ำ และมีการกระจายของมะเร็งออสทีโอซาร์โคมาที่ไม่สามารถควบคุมการลุกลามได้ การรักษาจะเน้นแบบประคับประคอง (palliative treatment) โดยจะเน้นไปที่รักษาเพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอาการปวด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
จัดทำโดย สถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์