Patient Education

ภาวะกระดูกหักและกระดูกไม่ติด

Home » ภาวะกระดูกหักและกระดูกไม่ติด

ภาวะกระดูกหักและไม่ติด
(Nonunion fracture)

กระดูกหักและไม่ติดคืออะไร?

กระดูกหักและไม่ติด คือภาวะที่กระดูกหักที่ได้รับการรักษาแล้วกระดูกไม่ติดภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปแล้ว หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม กระดูกควรติดภายในระยะเวลาไม่เกิน 6-8 เดือน หากกระดูกไม่สามารถติดได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยที่ไม่มีการรักษาเพิ่มเติม เราจะสามารถวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกไม่ติดได้ ทั้งนี้ หากกระดูกที่หักมีกระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่เพิ่มเติมอยู่บ้างแต่ช้า เราจะวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกติดช้า และสามารถรอเวลาเพื่อดูอาการต่อก่อนได้ จนกว่ากระดูกที่สร้างขึ้นใหม่จะไม่มีการสร้างเพิ่มเติม จึงจะวินิจฉัยว่ากระดูกไม่ติดและต้องได้รับการรักษาต่อไป

ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการติดของกระดูก?

มีการศึกษามากมายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการติดของกระดูก ในปัจจุบันพบว่าภาวะเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี การสูบบุหรี่ ภาวะพร่องวิตามินดี เป็นปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดกระดูกติดช้าหรือกระดูกไม่ติด นอกจากนี้แล้ว การรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือภาวะที่มีกระดูกหักร่วมกับมีแผลเปิด กระดูกติดเชื้อ หรือกระดูกที่หักเคยได้รับการฉายแสงเพื่อรักษามาก่อนนั้นส่งผลให้กระดูกติดช้าด้วยเช่นกัน ในอดีตมีการศึกษาพบว่าการรับประทานยาแก้ปวดชนิด NSIADs ส่งผลให้กระดูกติดช้า แต่ในปัจจุบันพบว่าหากใช้ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังผ่าตัดระยะแรกไม่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อภาวะกระดูกติดช้าหรือกระดูกไม่ติด

กระดูกไม่ติดมีกี่แบบ และแต่ละแบบมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?

กระดูกไม่ติดแบ่งได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  1. Atrophic nonunion กระดูกไม่ติดแบบนี้ มีสาเหตุจากการที่มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณกระดูกหักไม่เพียงพอ หรือเนื้อเยื่อรอบๆบริเวณที่กระดูกหักได้รับการบาดเจ็บที่มาก ทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยง หรือมีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อบริเวณที่มีกระดูกหัก
  2. Oligotrophic nonunion คือภาวะที่ร่างกายพอจะสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาเพื่อเชื่อมกระดูกที่หักได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้กระดูกติด อาจมีสาเหตุมาจากการรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยงบริเวณกระดูกหัก หรืออาจเกิดจากทั้งสองสาเหตุร่วมกันได้
  3. Hypertrophic nonunion คือภาวะที่ร่างกายสร้างกระดูกมาเชื่อมบริเวณที่กระดูกหักเยอะมากแต่ไม่สามารถเชื่อมกระดูกเข้าหากันได้ เกิดจากเหล็กที่ใช้ดามกระดูกมีความมั่นคงไม่เพียงพอ หรือการใส่เฝือกที่ไม่มั่นคงเพียงพอต่อการติดของกระดูก


การรักษากระดูกไม่ติด หรือติดช้าทำอย่างไร?

หากผู้ป่วยกระดูกหักมีภาวะกระดูกติดช้า หรือสงสัยว่ากระดูกไม่ติด หรือมีภาวะเหล็กดามกระดูกหัก ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกหักและการบาดเจ็บทางกระดูกและข้อ เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกไม่ติดหรือติดช้า และรับการรักษาให้ตรงตามสาเหตุที่ทำให้เกิด ทั้งนี้การรักษามีตั้งแต่การรับประทานยาแคลเซี่ยมเสริม แก้ปัญหาทางเมตาบอลิซึ่มและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด การผ่าตัดเอาเหล็กดามกระดูกเดิมออกแล้วใส่เหล็กดามกระดูกใหม่ การผ่าตัดใส่เหล็กยึดเพิ่มเติม การผ่าตัดใส่กระดูกเชิงกรานของผู้ป่วยเข้าไปกระตุ้นการติดของกระดูก หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้มากที่สุด

จัดทำโดย สถาบันออร์โธปิดิกส์
รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์