พังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia) คือเนื้อเยื่ออ่อนที่มีจุดเกาะระหว่างกระดูกส้นเท้า (Calcaneus) และ เส้นเอ็นบริเวณฝ่าเท้า กระดูกนิ้วเท้าส่วนต้น (Proximal Phalanx) หน้าที่หลักคือการช่วยพยุงกระดูกเท้า (Foot Arch) และลดแรงกระแทกต่อกระดูกเท้า
ภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรครองช้ำ เป็นสาเหตุสำคัญของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บส้นเท้า (Plantar Heel Pain) หากได้รับการรักษาถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมาน สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ นอกจากนี้การรักษาอย่างถูกวิธียังช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของภาวะนี้ได้อีกด้วย
สาเหตุหลักของภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis)
คือการเสื่อมสภาพของพังผืดอันเนื่องมากจากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา (Microtrauma) ทำให้มีการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบมากผิดปกติ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ อาทิเช่น ภาวะเท้าแบน (Flat Feet) หรือภาวะเท้าโก่ง (Cavus Feet) ภาวะกล้ามเนื้อเส้นเอ็นน่องตึง (Gastrocnemius and Achilles Tightness) ภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน อายุมากกว่า 40ปี ภาวะอ้วน กิจกรรมที่มีการเพิ่มแรงกระทำแก่ฝ่าเท้าเช่น การวิ่ง เดินหรือยืนนาน การยกหรือแบกของหนัก การใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับรูปเท้า และการเดินที่ผิดปกติ
ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดบริเวณส้นเท้า และฝ่าเท้า หลังจากหยุดพัก (เช่นการนั่งพัก หรือหลังตื่นนอน) (Post Static Dyskinesia / Start-Up Pain) ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือขยับไปสักระยะหนึ่ง ตรวจร่างกายจะพบว่ามีจุดกดเจ็บโดยเฉพาะบริเวณพังผืดฝ่าเท้าด้านใน หรืออาจพบอาการปวดและตึงบริเวณกล้ามเนื้อน่อง กับเส้นเอ็นร้อยหวายร่วมด้วย
การวินิจฉัย
ภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ อาศัยอาการและอาการแสดงเป็นสำคัญในการวินิจฉัย (Clinical Diagnosis) ซึ่งการใช้การตรวจภาพถ่ายทางรังสีไม่ได้จำเป็น แต่จะใช้ในกรณีที่ต้องการแยกโรคสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะปวดบริเวณส้นเท้าได้ เช่นการส่งภาพถ่ายทางรังสี ช่วยในการแยกโรคภาวะกระดูกส้นเท้าหักล้า (Calcaneal Stress Fracture) หรือช่วยบอกภาวะเรื้อรังของตัวโรคพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ โดยดูจากการมีกระดูกงอกขึ้นตามแนวเส้นเอ็น (Plantar Calcaneal Spur) การส่งตรวจอัลตราซาวน์สามารถช่วยวินิจฉัยแยกโรคเช่น กรณีมีสิ่งแปลกปลอม ก้อนเนื้องอก หรือช่วยในการวินิจฉัยโดยสามารถดูได้ที่ความหนาของพังผืดฝ่าเท้า หรือการขาดของพังผืดได้ โดยลักษณะในภาพอัลตราซาวน์อาจพบ การหนาตัวของพังผืดมากกว่า 4 มิลลิเมตร ร่วมกับการที่คลื่นผ่านพังผืดใต้ฝ่าเท้าได้ลดลง (Hypoechoic) การส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยภาวะนี้ มักพบด้วยเหตุบังเอิญ และการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถใช้ดูความหนาของพังผืด ภาวะเสื่อม ตำแหน่งที่ขาด หรือภาวะกระดูกช้ำได้
การรักษา
ภาวะนี้โดยส่วนใหญ่อาการปวดจะหายได้เอง โดยจะดีขึ้นภายในเวลา 1 ปี ซึ่งภาวะปวดส้นเท้านี้จะรบกวนชีวิตประจำวันจึงทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษา โดยการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมสามารถทำให้อาการปวดดีขึ้นได้ถึง 80-90% แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้วิธีการรักษาหลายๆวิธี เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ
การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Treatment)
เป็นแนวทางการรักษาอันดับแรก ซึ่งได้แก่การพัก งดหรือลดการใช้งาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้กลไกการรักษาของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น การประคบเย็น เพื่อช่วยในการลดการอักเสบ การบวม และลดปวด และการใช้ยาซึ่งได้แก่ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) การใช้ยาพาราเซตตามอล หรือบางกรณีอาจใช้ยากลุ่มเสตียรอยด์
การยืดกล้ามเนื้อน่อง
เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ได้แก่การยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าและการยืดกล้ามเนื้อน่องและเส้นเอ็น ซึ่งการรักษาโดยการยืดกล้ามเนื้อและพังผืดฝ่าเท้าเป็นการรักษาที่ตรงจุด เนื่องจากส่งผลดีต่อภาวะตึงของกล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อเท้า
การใช้กายอุปกรณ์
เช่นการใช้การปรับแผ่นรองพื้นรองเท้า (Insoles) ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไม่ว่าแผ่นรองพื้นรองเท้าจะซื้อแบบสำเร็จรูป (Over-The-Counter) หรือแบบทำเฉพาะรูปเท้า (Custom-Made) สามารถใช้ในการรักษาภาวะพังผืดฝ่าเท้าอักเสบได้ โดยอาจใช้ซิลิโคนเสริมส้นหรือตัวช่วยพยุงอุ้งเท้าได้ (Heel cups/ Arch support)
การใช้กายอุปกรณ์จำพวกนี้ช่วยในการแก้ภาวะผิดปกติของรูปเท้า เช่นภาวะเท้าแบบ อุ้งเท้าสูง ทำให้ลดแรงที่กระทำต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าได้ การใช้ที่ดามข้อเท้าช่วงกลางคืน (Night Splint) จะช่วยป้องกันการหย่อนของพังผืด เนื่องจากเวลานอนเท้าจะกลับไปอยู่ในท่าเหยียดลง (Plantar Flexion) ซึ่งการใส่อุปกรณ์ดามข้อเท้านี้จะทำให้ลดความตึงของพังผืดฝ่าเท้าได้
การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าที่ฝ่าเท้า
มีการศึกษาพบว่าการฉีดยาเสตียรอยด์ มีผลลดอากาปวดและบวมเมื่อเทียบกับยาหลอก โดยมีการศึกษาพบว่ามีผลลดปวดได้นาน 1-3 เดือน อย่างไรก็ตาม การฉีดเสตรียรอยด์ มีความเสี่ยงของการขาดของพังผืดฝ่าเท้า จึงแนะนำให้เป็นการรักษาระยะสั้น
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-Rich Plasma) เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการซ่อมแซม ประกอบไปด้วยสารสื่อประสาทหลายชนิด อย่างไรก็ตามงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า ไม่มีความต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเสตียรอยด์
การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy)
เป็นการใช้คลื่นเสียงทำเกิดการกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ (Neovascularization) และทำให้มีสารสื่อประสาทที่ช่วยในการรักษามากขึ้น โดยพบว่าสามารถลดอาการปวดได้ถึง 1ปี โดยประสบความสำเร็จในการรักษาถึง 98% อย่างไรก็ตามการรักษาดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะพังผืดถูกทำลายได้ถ้าใช้ความแรงไม่พอเหมาะ
การรักษาโดยการผ่าตัด
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การรักษาลำดับแรกของภาวะพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ คือการรักษาแบบไม่ผ่าตัด อย่างไรก็ตามเมื่อการรักษาดังกล่าวไม่บรรลุผลภายใน 6 – 12 เดือน อาจต้องพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด แนวทางในการรักษามีทั้งการเลาะพังผืดฝ่าเท้าออกบางส่วน หรือเลาะออกทั้งหมด (Plantar Fascia Release; Partial or Complete) การผ่าตัดยืดกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius Release) ซึ่งผลการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดยังไม่แน่นอน ใช้เวลารักษาตัวนาน อาการปวดอาจไม่หายไปทั้งหมด รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนเช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ เส้นประสาทบาดเจ็บ และพังผืดฝ่าเท้าขาด